10 จุดเจ็บปวดตามร่างกายมีที่มา

อาการเจ็บปวดเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มักสร้างความกังวลเพราะนอกจากจะไม่รู้ที่มาแล้ว เรายังไม่อาจเห็นสภาพภายในได้ เรื่องนี้ นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ มีข้อมูลมาไขข้อข้องใจโดยเฉพาะอาการปวด 10 จุด ต่อไปนี้

7_1_af13ca15c57cbec

‘เจ็บต้นคอร้าวแขน‘ 
เจ็บนี้ต้องระวังเส้นประสาทต้นคออาจถูกกดหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ยกของหนักที่ผ่านมาได้

‘เจ็บแขนร้าวปลายมือ‘ 
ดูเรื่องเส้นประสาทให้ดีมีสิทธิ์เกิดจากพังผืดไปรัดเส้นประสาทหรือเกิดมาจากศูนย์รวมประสาทที่ต้นคอก็ยังได้

‘ปวดศีรษะร้าวต้นคอ‘ 
อาจเป็นเพียงกล้ามเนื้อที่เกร็งตึงเวลามีความเครียดธรรมดา แต่ถ้ามีตาพร่าบวกคลื่นไส้อาเจียนด้วยก็ต้องจับตาอาการด้านสมอง

‘ปวดหลังร้าวลงขา‘ 
น่าจะเกิดจากหมอนรองกระดูกกดเส้นประสาทเป็นหลัก โดยเฉพาะหลังส่วนบั้นเอวเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ การดูว่าปวดหลังถึงขั้นไหนให้ดูอาการร้าวลงขา

‘เจ็บอกวิ่งไปแขนซ้าย‘ 
ร้ายเสียยิ่งกว่าอกหักเพราะมักเกี่ยวถึงโรคหัวใจขาดเลือด ให้สังเกตอาการปวดว่าเหมือนถูกบีบหรือถูกงูเหลือมตัวใหญ่รัดด้วยหรือไม่

‘ไอแล้วปวดร้าวลงก้นกบ‘ 
บางคนเวลาไอหรือเบ่งท้องแรง ๆ แล้วมีอาการเจ็บร้าวไปหลังหรือก้นกบเบื้องล่างทุกครั้ง ต้องเฝ้าระวังโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น

‘เจ็บท้องน้อยร้าวลงหน้าขา‘ 
ในสตรีต้องระวังเรื่องอุ้งเชิงกรานอักเสบ ส่วนในหนุ่ม ๆ ให้ระวังนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ถ้ามีไข้ร่วมด้วยให้ช่วยระวังการติดเชื้อเป็นหลัก

‘เจ็บท้องส่วนอื่น ๆ แล้วร้าวทะลุหลัง‘ 
อาการเจ็บหน้าไปหลังเช่นนี้ถ้าเป็นที่ตับ คือ ด้านบนขวาให้นึกถึงถุงน้ำดีที่อาจไม่ดีสมชื่อ เพราะนี่เป็นสัญญาณนิ่วในถุงน้ำดีหรือถุงน้ำดีอักเสบ ส่วนถ้าเจ็บตรงกลางร่วมกับไข้สูงให้นึกถึงตับอ่อนอักเสบ (Acute pancreatitis) แบบเฉียบพลัน

‘เจ็บบั้นเอวแถวสีข้างร้าวลงขา‘ 
ยิ่งถ้าเจ็บบั้นเอวด้านใดด้านหนึ่งแล้วร้าวด้วย ให้นึกถึงก้อนนิ่วในกรวยไตหรือท่อไต ในบางรายอาจมีท่อปัสสาวะอักเสบร่วมกับมีไข้ รู้สึกหนาวและปัสสาวะปนเลือดอีก หากเป็นเช่นนี้แนะให้ช่วยรีบไปตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์หรืออัลตร้าซาวน์

และสุดท้าย
’เจ็บตามผื่นแล้วร้าวลงเส้นประสาท‘ 
การที่มีผื่นเป็นตุ่มน้ำใสแล้วมีอาการแสบร้อนหรือเคยมีประวัติโรคเริม งูสวัด ให้ระวังอาการปวดร้าวไปตามปลายประสาท แม้ไม่มีผื่นแล้วก็อาจทิ้งอาการแสบร้อนไว้ได้ บางรายเจ็บแสบอยู่ตามแนวเส้นประสาทเป็นครั้งคราว

คุณหมอกฤษดา ย้ำว่า สัญญาณเจ็บร้าวทั้งสิบที่ว่ามาเป็นวิธีดูคร่าว ๆ เท่านั้น แต่ก็ช่วยทำให้ได้ร่องรอยของโรคที่ซ่อนอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือ พบแพทย์แล้วตรวจหาความผิดปกติให้ทราบชัดเจนชัวร์กว่า.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com

 

ที่มา: เดลินิวส์  7 สิงหาคม 2555