ปาร์ตี้ปิ้งย่างสังสรรค์เซลล์มะเร็ง

1524799_712564698761825_1904976078_n

การรับประทานอาหารปิ้งย่าง โดยเฉพาะเนื้อหมู เนื้อวัว เป็นหนึ่งในเมนูยอดนิยมของชาวไทยเรา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสังสรรค์ ปิ้งย่างไปพลางๆ ดื่มเบียร์แกล้มไปเพลินๆ เหมาะกับงานเฮฮาปาร์ตี้เป็นที่สุด แต่คุณรู้ไหมว่า การรับประทานบุฟเฟต์ปิ้งย่างนั้น ส่งผลให้เซลล์อะไรในร่างกายยินดีปรีดาบ้าง

เซลล์แรกที่ร้องไชโยโห่ฮิ้วเวลาที่คุณป้อนอาหารปิ้งย่างเข้าปาก คือ เซลล์ไขมัน เพราะอาหารปิ้งย่างจัดเป็นอาหารแคลอรี่สูง แถมเป็นแคลอรี่จากไขมัน ทั้งจากไขมันที่แทรกอยู่ในเนื้อสัตว์ และน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร หนำซ้ำคนส่วนใหญ่ยังมักรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มอย่าง น้ำอัดลม เบียร์ เหล้า เพิ่มแคลอรี่ที่ผ่านเข้าปากมากขึ้นไปอีก บรรยากาศในการรับประทานแบบเฮฮาปาร์ตี้ ก็มักจะส่งผลให้รับประทานแบบขาดสติ ไม่คุมปริมาณอาหาร การสังสรรค์บุฟเฟต์ปิ้งย่างเป็นประจำ จึงส่งต่อความอ้วนอย่างแน่นอน

เซลล์ต่อมาที่เฮฮาไปด้วยคือ เซลล์มะเร็ง เพราะอาหารปิ้งย่างเป็นแหล่งของตัวกระตุ้นเซลล์มะเร็งชั้นดีสองตัว หนึ่งคือสารในกลุ่มไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons หรือ PAH) พบในควันที่เกิดจากไขมันสัตว์ที่โดนความร้อนสูง โดยพบว่ามีความสามารถในการก่อมะเร็งได้ไม่แพ้ควันบุหรี่เลยทีเดียว สองคือสารในกลุ่มเอมีนส์ (Heteocyclic amines) พบมากในเนื้อแดงที่ถูกความร้อนสูง และมีงานวิจัยพบว่าเป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน

หากจำเป็นต้องรับประทานอาหารปิ้งย่าง แต่ไม่อยากอ้วนและเสี่ยงต่อมะเร็ง แนะนำให้ปฏิบัติตามทิปดังนี้ค่ะ

• เลือกสถานที่ปิ้งย่างที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี หรือมีเครื่องดูดควันคุณภาพสูง เพราะการสูดดมควันที่เกิดขึ้นก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณได้เช่นกัน

• เน้นรับประทานเป็นเนื้อปลา หรือไก่ไม่ติดหนัง ซึ่งมีปริมาณไขมันน้อยกว่าเนื้อหมูและเนื้อวัว ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งน้อยกว่า

• เลี่ยงการรับประทานเนื้อแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบค่อน ไส้กรอกอีสาน เพราะเนื้อแปรรูปเหล่านี้มีปริมาณไขมันและเกลือโซเดียมสูง นอกจากจะก่อมะเร็ง และอ้วนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงอีกด้วย

• อย่าใช้ไฟแรง อย่าปิ้งจนเกรียม และหมั่นทำความสะอาดคราบเขม่าและรอยไหม้ต่างๆที่ติดอยู่บริเวณตะแกรง

• หมักเนื้อด้วยน้ำมะนาว สะระแหน่ มิ้นท์ โรสแมรี่ สมุนไพรเหล่านี้จะช่วยลดการเกิดของสารก่อมะเร็งในกลุ่มเอมีนส์

• ตัดเนื้อส่วนที่มีมันออกก่อนนำไปปิ้งย่าง เพื่อลดการเกิดสารก่อมะเร็งกลุ่มไฮโดรคาร์บอน

• อาจนำเนื้อสัตว์ไปอบให้สุกประมาณหนึ่งก่อน แล้วค่อยนำมาปิ้งย่าง เพื่อลดเวลาในการปิ้งย่างลง จะช่วยลดการเกิดของสารก่อมะเร็ง

• เน้นรับประทานผักสดๆควบคู่ด้วยเสมอ

• เลือกดื่มน้ำเปล่า แทนการดื่มน้ำอัดลมหรือสุรา

สำหรับคนที่เคยรับประทานแต่บาร์บีคิวปิ้งย่างจนคุ้นเคย หมอแนะนำให้ลองเปลี่ยนรสชาติไปรับประทานสุกี้ ชาบู หรือจุ่มแซ่บบ้าง จะพบว่าแซ่บไม่แพ้กัน ดีต่อสุขภาพกว่า แถมยังไม่ทำให้เสื้อผ้าหน้าผมเหม็นไปทั้งวันจากการรมควันปิ้งย่างด้วยค่ะ

พญ. ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
Twitter, Instagram: @thidakarn
……………………………………………..
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน
ในชุดโครงการ “รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง”
เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ที่มา แฟนเพจคนไทยไร้พุง