กระดูกสันหลังคดในเด็ก

news_img_588407_1

กระดูกสันหลังคดในเด็ก ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่เห็นถึงความผิดปกติ แพทย์สมิติเวชมีคำแนะนำให้กับพ่อแม่ ถึงวิธีสังเกตความผิดปกตินั้น

เด็กหญิงสเตซี่ ลูอิส (Stacy Lewis) ชอบเล่นกอล์ฟตั้งแต่เด็ก และใฝ่ฝันที่จะเป็นนักกอล์ฟอาชีพให้ได้ เธอฝึกซ้อมทุกวัน ตอนที่เธออายุ 11 ขวบ พ่อแม่ของเธอค้นพบว่ามีความผิดปกติที่กระดูกสันหลังของเธอ ทำให้ต้องใส่โครงเหล็กดัดหลังวันละกว่า 18 ชั่วโมงทุกวันเป็นเวลา 7 ปีครึ่ง ถอดออกเฉพาะตอนซ้อมกอล์ฟเท่านั้น

สเตซี่ ไม่เคยย่อท้อต่อความผิดปกติของร่างกายเธอ เธอเล่นกอล์ฟเก่งมากจนได้ทุนจากมหาวิทยาลัย Arkansas เธอดีใจมาก แต่แล้วความดีใจของเธอก็ถูกกลบด้วย คำวินิจฉัยของแพทย์กระดูกที่บอกว่าความผิดปกติที่กระดูกสันหลังนั้น เกินกว่าการเยียวยาด้วยการใส่โครงเหล็กเสียแล้ว ทางออกเดียวคือการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกตินี้ โดยหมอร้อยเอ็นเข้าที่กระดูกและยึดติดกับสกรู

Stacy Lewis ในวันนี้ คือหนึ่งในดาวเด่นของ LPGA และเป็นแรงบันดาลใจของเด็กทั่วโลกอีกหลายๆ คน ที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคด

ศ.เกียรติคุณ นพ.เจริญ โชติกวณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์กระดูกสันหลังและข้อ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่กระดูกสันหลังคดในเด็กเป็นภาวะที่ไม่แสดงอาการให้เห็น คือถ้าไม่สังเกตก็จะไม่เห็นถึงความผิดปกติ โดยเฉพาะไม่ได้เป็นมาก ซึ่งแตกต่างกับเวลาเด็กไม่สบาย ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ จะมีอาการที่ชัดเจน พาไปหาหมออธิบายได้ถูกต้อง

ยกตัวอย่างกรณีของสเตซี่ เธอโชคดีที่สังเกตเห็นความผิดปกติ จากการตรวจร่างกายที่โรงเรียน

กระดูกสันหลังคด งอ ค่อม ที่เกิดขึ้นในเด็กนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน อาจเป็นเพราะกรรมพันธุ์ หรือฮอร์โมนใต้สมองทำงานผิดปกติ เด็กจึงพัฒนาไม่เต็มที่

ทั้งนี้ เด็กหรือผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วไม่ดูแลตัวเองจะมีปัญหาตามภายหลัง เช่น รูปร่างพิการ ตัวเอียง ปวดหลัง ปวดคอ ปวดศีรษะ ปวดประสาทและอาจเป็นโรคหมอนรองกระดูกได้ในอนาคต ทั้งอาจยังทำให้มีปัญหาทางระบบหายใจปอดอักเสบ หัวใจทำงานหนัก อาจทำให้หัวใจล้มเหลวได้

คุณหมอแนะนำวิธีดูแลกระดูกสันหลังของเราเอง ด้วยการไม่นั่งหรือยืนเป็นเวลานาน หรือยืนทิ้งน้ำหนักตัวข้างใดข้างหนึ่งไม่เท่ากัน ควรปรับเปลี่ยนท่าทางทุกครึ่งชั่วโมงเพื่อเป็นการไม่ทำร้ายหรือใช้งานกระดูกสันหลังมากเกินไป ผู้ปกครองก็ควรดูแลเอาใจใส่ลูกหลานในเรื่องของการสะพายกระเป๋าไปโรงเรียน ไม่ควรให้ขนสัมภาระหนักจนเกินไป

คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจกระดูกสันหลังของลูกคร่าวๆ ด้วยตัวเองว่า อาจให้ลูกถอดเสื้อ ยืนเท้า ชิดกันและก้มลง พยายามให้มือทั้ง 2 ข้างแตะพื้น แล้วลองดูความนูนของกระดูกสันหลัง ถ้าผิดปกติจะพบว่ามีความนูนไม่เท่ากัน การทดสอบนี้ทำได้ตั้งแต่ลูกอายุ 2-3 ขวบ

สำหรับเด็กอ่อนควรจะให้คุณหมอตรวจได้ตั้งแต่เกิด ทารกบางคนเกิดมาพร้อมความผิดปกติเลย แต่อย่างสเตซี่นี้พบตอนที่เกือบจะเป็นวัยรุ่นแล้ว และ progressive คือ มีการคดเพิ่มด้วย เด็กบางคนมีอาการคดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี แต่บางคนก็ช้า

ถ้าพบตั้งแต่แรกเกิด การเพิ่มขึ้นจะเป็นไปตามการเติบโตของร่างกาย แต่เมื่อเด็กเข้าสู่ “วัยรุ่น” คือประมาณที่อายุ 12-14 ปีก็เพิ่มเร็วสุดๆ ตามความสูงที่เพิ่มเร็ว หลังจากนั้นจะหยุดคดหรือคดช้าลงเมื่อเข้าสู่ช่วง 18-20 ปี คุณพ่อคุณแม่ควรจะสังเกตหลังของลูกบ้าง

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสมิติเวชตั้งกองทุน New Life Fund หรือกองทุนเพื่อชีวิตใหม่ เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่ต้องการการผ่าตัดหัวใจ การปลูกถ่ายไขกระดูกและผ่าตัดกระดูกสันหลังคด ปัจจุบันสามารถช่วยชีวิตเด็กด้อยโอกาสที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคร้ายเหล่านี้ ไปแล้วกว่า 100 คน

ท่านใดมีกุศลจิตอยากสมทบทุนช่วยเหลือเด็กๆ ที่เป็นกระดูกสันหลังคดติดต่อสอบถามได้ที่โทร. 0 271 1818 1

กระดูกสันหลังคดสังเกตได้ดังนี้

• ระดับหัวไหล่หรือบ่าทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน สะบักที่หลังด้านใดด้านหนึ่งอาจนูนขึ้นมามากกว่าอีกด้านหนึ่ง

• เวลาลูกก้มลงลองดูกแนวกระดูกสันหลังว่ามีการคดงอหรือไม่

• สภาพผิวมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากอีกด้าน เช่น มีรอยบุ๋ม มีขนขึ้น สีผิวเปลี่ยนไปจากเดิม

• มีการเอียงของลำตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง

• ศีรษะไม่อยู่กึ่งกลางในระหว่างแนวกระดูกเชิงกรานทั้ง 2 ข้าง

• กระดูกซี่โครงมีระดับความสูงไม่เท่ากัน

• สัดส่วนของเอวมีความผิดปกติโดยมีระดับไม่เท่ากัน

• สะโพกด้านใดด้านหนึ่งยกขึ้น สูงกว่าอีกด้าน

 

ที่มา :  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 17 มิถุนายน 2557 04:00