เตือนกินกลูโคซามีน ระวังตา(อาจ)บอด โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

“กลูโคซามีน” เป็นทั้ง “ยา” และ “อาหารเสริม” สำหรับประชาชนในประเทศไทย โดยใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเสื่อม หรือมีแนวโน้มจะเป็นในอีกไม่ช้า 

ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้ว่าไม่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างข้อหรือกระดูกอ่อนใดๆ ทั้งสิ้น แต่มีผู้ป่วยบางรายใช้แล้วรู้สึกดี โดยไม่มีใครทราบถึงกลไกการออกฤทธิ์แน่นอนในการบรรเทาอาการปวด

มีรายงานทางวิทยาศาสตร์บางชิ้นพบว่า กลูโคซามีนไปกระตุ้นสารต้านการอักเสบ นัยว่าทำให้ปวดน้อยลง แต่เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์จริงๆ มีค่อนข้างน้อยมาก คำแนะนำของสมาคมโรคข้อของสหรัฐอเมริกาจึงไม่แนะนำให้ใช้ แต่ถ้าผู้ป่วยยืนยันจะใช้ก็ควรให้ลองดูประมาณ 1-2 เดือน หากไม่เห็นผลก็ให้เลิกไป

ในประเทศไทยเพียงกลูโคซามีนตัวเดียว ก่อเหตุประหนึ่งเป็น “ยาวิเศษ” ที่คนไข้ต้องได้รับและควรต้องเบิกได้ โดยให้เหตุผลว่าไม่เป็นอันตรายต่อกระเพาะอาหาร ไต ไม่ก่อให้เกิดเส้นเลือดในหัวใจหรือในสมองตีบตันแบบยาแก้ปวดทั่วไป (ชนิดไม่ว่าถูกหรือแพง) เช่น Diclofenac (Voltaren) Ibuprofen (Brufen) และตระกูล Coxibs ทั้งหลาย เช่น Celecoxib (Celebrex) Etoricoxib (Areoxia) และเมื่อกินกลูโคซามีน ถึงไม่ได้ผลก็ไม่เป็นไร อย่างไรก็อุ่นใจเพราะได้กินยา เป็นกำลังใจ หรือที่เรียกว่า Placebo Effect

จนมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 มีรายงานในวารสารสมาคมแพทย์สหรัฐ ทางจักษุวิทยา (JAMA) ว่า ผู้ใช้กลูโคซามีนจะมีความดันในลูกตาสูงขึ้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีต้อหินอยู่บ้าง หลังจากกินกลูโคซามีนความดันในลูกตาสูงขึ้นอย่างชัดเจน และเมื่อหยุดกินความดันในลูกตาก็ลดลง คำเตือนจากรายงานนี้คือ ผู้ป่วยที่มีอาการข้อเสื่อม มักเป็นผู้สูงอายุอยู่แล้ว และมักมีปัญหาโรคตาร่วมด้วย โดยเฉพาะต้อกระจก และต้อหิน ทั้งนี้ ต้อหินซึ่งเกิดจากความดันน้ำในลูกตาสูงซึ่งจะทำให้ตาบอดนั้น อาจไม่มีอาการเตือนคือ ไม่มีอาการเจ็บลูกตาก็ได้ แต่เมื่อใช้กลูโคซามีน สายตาก็จะเลวลงเรื่อยๆ และอาจบอดในที่สุด

เพราะฉะนั้น ถ้าคนไข้ยืนยันที่จะใช้กลูโคซามีน หมอหรือแม้แต่ร้านขายอาหารเสริม ถ้าจะส่งเสริมให้ใช้ ต้องแนะนำ

ผู้ใช้ว่ามีโรคตาต้อหินหรือไม่ ถ้ามีไม่ควรใช้ ถ้าไม่ทราบควรตรวจก่อน ถ้าไม่มีแล้วจะใช้กลูโคซามีนก็ต้องติดตามตรวจความดันลูกตาเป็นระยะ ทั้งนี้ ต้องระลึกไว้เสมอว่า ข้อต่างๆ ปวดอาจไม่หาย แถมตาบอดเสริมเข้ามาอีก

คอลัมน์ ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (มติชนรายวัน 9 มิ.ย.2556)

ที่มา : มติชน 9 มิถุนายน 2556Credit : http://www.saga.co.uk