อยากให้เรามีแต่ข้อดี

7_1_778e371629e7a95

ทัศนะดีๆ ของ “รศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช” ศัลยแพทย์มือหนึ่งด้านกระดูก ที่ปรารถนาให้ทุกคนมี “ข้อดี” จากความ “คิดดี”
รักษาผู้ป่วยมาก็มาก จนได้รับคำยกย่องว่าเป็น ‘มือหนึ่ง’ ด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ แต่แท้จริงแล้ว รศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช มีดีกว่าเรื่องกระดูก เพราะเขาคือคุณหมอที่มี ‘ใจ’ แข็งแรงและงดงาม

คนไข้ 1,000 ราย คือเป้าหมายที่คุณหมอกีรติตั้งไว้ว่าจะต้องรักษาให้ได้ แต่การรักษาโดยผ่าตัดไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอันยั่งยืน ‘กระดูกและข้อ’ เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจมากกว่านั้น เขาจึงคลอดหนังสือ ‘อยากให้เรามีแต่ข้อดี’ เพื่อเสริมความเข้าใจเรื่อง ‘ข้อ’ สำหรับทุกคนในครอบครัว

หนังสือเล่มนี้คุณหมอเขียนเอง
ก่อนหน้านี้ทำหน้าที่ผ่าตัดเป็นส่วนมาก รู้สึกว่าก่อนที่จะผ่าตัด ถ้าทำให้คนไข้ไม่ต้องถูกผ่าตัด น่าจะเป็นการรักษาที่ดีที่สุด ถูกที่สุด เพราะต่อให้ผ่าตัด คิดว่าผ่าแล้วจะหมดไป มันไม่ใช่ คนไข้ยิ่งเยอะขึ้นๆ ก็รู้สึกว่า “เอ๊ะ! การผ่าตัดไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก”

คุณหมออยากให้คนไข้ได้ดูแลตัวเอง ป้องกันตัวเองก่อนที่จะถึงขั้นถูกผ่าตัด นี่คือสิ่งที่ทำให้เขาอยากจะมีหนังสือสักเล่มหนึ่ง ให้คนไข้ได้รู้ว่าทำอย่างไรเพื่อดูแลตัวเอง และลดอัตราเสี่ยงของความสึกหรอหรือโรคที่พวกเขาเป็น ได้รู้จักเสียก่อน รู้ว่าอยู่กับโรคนี้อย่างไรอย่างเป็นสุข

เป็นปกตินี่เป็นความสุขแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้พวกเขาเป็นปกติได้ มันจะเสื่อมก็จริง แต่เป็นปกติได้ตามความเสื่อมนั้นๆ แต่ถ้าถึงจุดที่ต้องซ่อมต้องแซม ก็มาพบหมอ หมอก็มีวิธีทำให้เขารู้ว่ารักษาได้ นี่คือสิ่งที่คุณหมออยากทำให้คนไข้ได้รู้ทั้งป้องกัน เมื่อป้องกันไม่ไหวแล้วต้องเข้าใจว่ารักษาอย่างไร มีขั้นตอนอะไร มีรูปแบบอย่างไรบ้าง

และถ้าถึงขั้นต้องผ่าตัด จะทำอย่างไรให้การผ่าตัดนั้นเป็นครั้งสุดท้าย ครั้งเดียว ก็รวบรวมจากประสบการณ์ที่ได้ดูแลรักษาคนไข้มาพร้อมกับทีมที่ดูแล กลายมาเป็นหนังสือ ‘อยากให้เรามีแต่ข้อดี’

ค่าลิขสิทธิ์หนังสือมอบให้ศิริราชมูลนิธิ
มันเป็นเรื่องเล็กมาก เพราะคุณหมอเองไม่ได้อยากได้เงินทองเป็นสำคัญ แต่อย่างน้อยมีคนช่วยทำหนังสือที่เป็นประโยชน์และดีกับคนไข้ของเขาได้ งานที่สำเร็จคือความยิ่งใหญ่ คือความอิ่มบุญของเขาแล้ว เงินที่ให้ศิริราชมูลนิธิเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเองที่มาจุนเจือผู้ป่วยยากไร้ เพราะมีคนไข้อีกมากที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาแต่เขาและครอบครัวช่วยไม่ได้…สังคมนี้ช่วยได้

เรื่องเงินคือคุณค่าอย่างหนึ่ง แต่คุณค่าของหนังสือต่างหาก คนที่ได้ไปจะได้ประโยชน์ งานที่ทำก็จะได้ดั่งใจที่ต้องการ แถมยังได้อีกหลายๆ อย่างด้วย ระหว่างที่ทำหนังสือ ทีมที่ทำ ได้ตระหนัก ได้เห็น ได้มีความสุขร่วมกับคุณหมอกีรติ มาถึงตรงนี้ได้เพราะมีทีมที่ช่วย ไม่ว่าคนที่อยู่เบื้องหน้า หรือผู้อยู่เบื้องหลัง คนเหล่านี้เขาประกอบให้งานเราสำเร็จ คนไข้หลายคนเอาเงินมาช่วยบริจาคทั้งๆ ที่เขาก็เพิ่งรู้จักผ่านหนังสือ นี่คือคุณค่าที่ทวีคูณ

ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ มือหนึ่ง
คุณหมอไม่เคยคิดเลยว่าเขาเป็นมืออันดับอะไร เพียงแต่ขอมีความสุขกับงานที่ทำแต่ละชิ้น แต่ละครั้ง และก็อยากทำให้ดีที่สุด จะมือเท่าไร หมอหนุ่มคนนี้ไม่ได้ใส่ใจ คนจะให้เราเป็นมืออันดับเท่าไรก็แล้วแต่ แต่ว่าพอทำงานด้านนี้ไปนานๆ ก็ได้รับความเชื่อมั่นจากคนไข้

ธรรมดาอยู่แล้ว การเป็นหมอ เมื่อมีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ คนไข้ก็เชื่อมั่น แต่สิ่งที่ภูมิใจขึ้นไปอีกคือ คนในวิชาชีพเดียวกันเชื่อมั่น เอาคุณพ่อคุณแม่มาดูแล ตัวเองมาดูแล อาจารย์ของเขาเองก็ได้รับการดูแล เขาก็ภูมิใจที่อย่างน้อยได้ทำหน้าที่ดีที่สุด อันดับเท่าไรไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย

คุณหมอเคยป่วยหนัก
นายแพทย์กีรติหัวเราะนิดๆ ก่อนจะเอ่ยว่า อาจเป็นพระเจ้าจะทดสอบชีวิตก็ได้ เพราะครั้งหนึ่งเขาไปบรรยายที่ฟิลิปปินส์ กลับมาวันรุ่งขึ้นมีไข้ ตัวร้อน ปวดเมื่อยตามตัว ช่วงนั้นไข้หวัดใหญ่ 2009 กำลังดังมาก ก็ตกใจ คิดว่าอาจจะเป็นก็ได้ ก็มาหาอาจารย์ที่ศิริราช ให้ช่วยดูแล มานอนโรงพยาบาล ฉีดยา

ตอนนั้นคิดว่าตนเองแข็งแรงมาตลอด วันนั้นหลังจากมานอนหนึ่งวัน ไตวาย ไตวายนี่คือไตไม่ทำงาน ถ้าไตไม่ทำงานถาวร หมายความว่าต้องมาล้างไตทุกๆ 2-3 วัน มาเข้าเครื่องล้างไต จะทานอะไรไม่ได้ปกติ จะทำงานหนักไม่ได้ สิ่งที่เขาทำมาทั้งหมด ก็คิดว่าคงจะจบกัน เพราะชีวิตอยู่ในวัยทำงานแล้ว งานกำลังลงตัว ครอบครัวก็ลงตัว

แต่ครั้งนี้คือความท้าทายของชีวิตว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ถึงขั้นที่…ปลงได้ก็จริง แต่ลึกๆ…(นิ่งขณะหนึ่ง) ตอนกลางคืนปัสสาวะไม่ออกเลย ปัสสาวะไม่ออกเป็นวัน ให้น้ำ ให้อะไรเป็นพันๆ ซีซี ไตไม่ทำงานก็กักในตัวของเขา น้ำก็อยู่ในท้องตลอดเวลา ท้องบวม

คืนนั้นเขานอนไม่หลับ ในใจก็ไม่เครียดคิดว่าเป็นก็เป็น จำได้ว่าสองทุ่มแล้วก็ยังไม่หลับ เที่ยงคืนก็ยังตื่นอยู่ จึงสงสัยว่าทำไม่นอนไม่หลับ พอตีสาม เวลาเจอวิกฤติหรืออะไรในชีวิตแก้ไม่ได้ เขาจะใช้วิธีการเดิม

คุณหมอบอกว่า เขานึกถึงพระราชบิดา (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ก็ไหว้ท่านที่เตียงนอน แล้วอธิษฐานว่า “ถ้าท่านเห็นว่าผมจะเป็นหมอที่ดีได้ในอนาคตก็ให้พระองค์ช่วยผมด้วย” เชื่อไหมว่าเช้าวันรุ่งขึ้นมีปัสสาวะออกมาเป็นหยดๆ นั่นหมายความว่าไตเริ่มฟื้นแล้ว ทั้งๆ ที่วันสองวันไม่มีเลย เขาจึงเชื่ออย่างสนิทใจว่านี่คือสิ่งที่พระองค์ทรงเห็นและช่วยเขา แต่ถ้าไม่มีความดีในอดีตหรืออนาคตที่เขาจะทำได้ ก็คงไม่มีอะไรช่วย

นั่นทำให้เกิดข้อคิดดีๆ ที่ว่า ชีวิตที่เหลืออยู่ต้องทำคืนให้สังคม ทำคืนให้ครอบครัว ทำคืนให้ศิริราช ทำงานที่เขารักให้มากที่สุด ก็เป็นบทเรียนหนึ่งที่ว่าชีวิตไม่แน่นอน แต่ถ้าแข็งแรง ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ก็จะไม่เสียดาย แต่ถ้าชะล่าใจหรือละเลย ชีวิตก็จะน่าเสียดาย เพราะชีวิตเหลือยาวเท่าไรไม่รู้ จะเป็นหมื่นวัน หรือพันวัน หรือไม่กี่วัน ไม่รู้ หรือถ้ามันเต็มที่แล้วสักวันจะต้องไปจากสิ่งที่รัก ก็จะไม่เสียดาย

ทำเพื่อคนอื่น มากกว่าผลประโยชน์ที่ตนมี
อันนี้ต้องคิดนานหน่อย เพราะโดยส่วนตัว เขาเชื่อว่าหมอเกือบทั้งหมดคงไม่ได้คิดถึงการใช้โอกาสหรือชื่อเสียงให้เกิดประโยชน์กับตนเองนัก สำหรับคุณหมอเองก็จะเดินตามรอยพระราชบิดา ซึ่งได้ทรงทำให้เห็นและสอนมาว่าการเห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจแรก

เขาโชคดีที่ได้อยู่ในสังคมที่ได้ดูแล ได้ซ่อมแซม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนหายจากทุกข์ภัย จากความเจ็บป่วย มันเป็นรางวัลทุกครั้งที่เขาให้เราช่วยเหลือ ให้ดูแล มันเป็นรางวัลชีวิตอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้มากมายเกินกว่าอื่นใด ชื่อเสียงไม่สำคัญเท่ารางวัลที่ได้แต่ละชิ้น เขาหาย เขายิ้ม เขามีความสุข โดยมีแพทย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาได้อย่างนั้น นั่นคือรางวัลอันมหาศาลซึ่งเขาคิดว่าไม่มีอะไรเทียบได้ ชื่อเสียงเป็นสิ่งที่คนภายนอกให้คุณค่ากับเรามากกว่า แต่การที่เราจะไปคิดว่าคนไข้ทำให้โด่งดัง แล้วจะไปเอาเขาเยอะๆ มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกนัก เพราะสุดท้ายคืออยากให้คนไข้หาย และมีความสุข

ทั้งนี้ จะช่วยคนเจ็บป่วยได้อย่างไร ก็ต้องไม่ทำตัวให้เป็นหนึ่งในนั้น ต้องไม่เป็นคนเจ็บป่วย แต่มันหนีไม่พ้นก็จริง แต่พยายามให้เป็นอย่างนั้นน้อยที่สุด จะได้ไม่เป็นภาระกับใคร จะได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่สังคมได้ต่อไป เมื่อได้ทำหน้าที่นี้ เป็นรางวัล เป็นความสุขจริงๆ ว่าแต่ละครั้งที่เขาหาย เขายิ้มแย้ม ทั้งตัวเขาเอง ทั้งญาติ

ได้อย่างอิ่มใจ เต็มสุขโดยอธิบายไม่ได้ ไม่ได้ให้เงิน แต่ก็มีความสุขมาก เงินทองก็มีมากมายเกินกว่าที่คิดอยู่แล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่ตามมาภายหลัง หมอทุกๆ คนก็น่าจะคิดอย่างนี้ แต่บางคนเท่านั้นที่ไม่คิดอย่างนี้ แต่เชื่อว่าเขาก็คงอยากทำ

คุณหมอ ผู้ศรัทธาในพระราชบิดา เล่าต่อว่า เขาโชคดีที่ได้มาเรียนแพทย์ที่ศิริราช ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบทำงานเพื่อส่วนรวมมาก ถ้าได้สัมภาษณ์คนที่ทำงานในศิริราช 9 ใน 10 คน จะบอกว่าเหนื่อย แต่เพื่อศิริราช พวกเขาทำได้ เขาอยู่กันอย่างนี้ และคุณหมอเองก็ซึมซาบวัฒนธรรมแบบนี้มาโดยไม่รู้ตัว เขาอยู่อย่างนี้มาเป็นร้อยปี และคุณหมอเองเป็นส่วนหนึ่ง ฉะนั้นจะเหนื่อยสักหน่อยจะเป็นอะไรไป ถ้าสิ่งที่ทำจะเกิดคุณค่ากับคนอื่นเยอะแยะ คุณแม่ของคุณหมอกีรติสอนมาว่า เหนื่อยกายพักเดี๋ยวหาย แต่ความอิ่มสุขความอิ่มใจ ถ้ามีโอกาสเราควรจะทำ

หมอชนบท ความใฝ่ฝันสมัยเรียน
คุณหมอกีรติ เล่าว่า เขาเป็นเด็กบ้านนอก เด็กต่างจังหวัด อาจเป็นความฝังลึกว่าอยากไปดูแลคนที่บ้านซึ่งขาดโอกาสมากกว่า ขาดหมอที่ดี ที่เก่งมากกว่า ถ้าจบแล้วก็อยากไป ความรู้สึกนี้มีมาเรื่อยจนกระทั่ง พอผ่านการเรียนวิชากระดูก ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เริ่มมีสิ่งที่ต้องชั่งใจมากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าวิชากระดูกและข้อเป็นสิ่งที่ใช่แล้ว กีรติจะเป็นหมออื่นใดไม่ได้นอกจากหมอกระดูกและข้อ

มันมีความสวยงาม มีความใช่อยู่ทุกอย่างที่เขาสัมผัส ไม่ว่าจะดูแลคนไข้อุบัติเหตุ เป็นความท้าทายที่ต้องเร่งกับเวลา ต้องใช้สมอง คิดก่อนไปรักษาเขา มันไม่มีสูตรตายตัว อีกทั้งเขายังชอบใช้ความคิดว่าจะใช้วิธีไหนที่ดีกับคนป่วย มีโรคที่ยังแก้ไม่ได้ ทำให้ต้องค้นคว้าเพื่อจะทำให้ผู้ที่เข้ารับการรักษารู้สึกดีขึ้นให้ได้ มีอะไรรออีกมากมาย

อาจเพราะเขาชอบคณิต ชอบฟิสิกส์ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยม วิชานี้มันเป็นไดนามิก เป็นกลไกขับเคลื่อนไปเรื่อย ไม่ต้องใช้จินตนาการมาก ส่งผลให้เขาไม่ค่อยชอบใช้จินตนาการ บางโรคหมอต้องใช้จินตนาการ หมอที่เก่งๆ อายุรแพทย์ต้องเข้าใจ ดูเซลล์ว่ามันทำปฏิกิริยาอย่างนั้นอย่างนี้ เชื้อโรคถูกยากินไปอย่างนั้นอย่างนี้แต่ไม่เห็นจริง แต่เป็นหมอผ่าตัดนี่เห็นจริง กระดูกเขาชนกันแนบสนิท เห็นจริง เอาเหล็กดาม เห็นจริง เห็นฟิล์มเอกซเรย์ ใกล้จริง มันทำให้เขารู้ว่า มันใช่แล้ว จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้

แต่ว่าเขาก็ไม่เคยละทิ้งสิ่งที่อยากเป็นในครั้งก่อน เมื่อเขาเติบโตขึ้น เริ่มรู้สึกว่าการเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอยู่ที่ไหนก็เป็นได้ ถ้าทุ่มเททุ่มใจให้ทั้งหมด และจะเป็นประโยชน์ในวงกว้างได้มากกว่าเสียอีกถ้านำสิ่งที่ค้นคว้าได้ สร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคม ซึ่งมันเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วๆ ไปของประเทศเราได้

ก้าวสู่บทบาทอาจารย์แพทย์
รศ.นพ.กีรติ ทำหน้าที่ทั้งเป็นหมอและอาจารย์ เขาว่าพอแก่ขึ้น โตขึ้น เห็นคนไข้นั่งรอเป็นปีๆ คิวผ่าตัดเป็นปีๆ จะให้คนไข้รอหรือ เขาจึงคิดว่าจะสร้างคนอื่นๆ ให้เก่งกว่าเขา เพื่อคนไข้จะไม่ต้องอย่างนั้นอีก ส่วนคุณหมอเองต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้มากขึ้น เพราะถ้าสังคมรอคนเก่งอย่างนี้เพียงไม่กี่คน เขาต้องทำหน้าที่สร้างคนเก่งและมีทัศนคติที่ใช่ด้วย เช่นเดียวกันเขาคิดว่าสิ่งนี้ใช่แน่ๆ คือทำเพื่อคนอื่น แล้วชีวิตส่วนตนจะตามมาแน่นอน

ทุกวันนี้ชีวิตของแพทย์มือหนึ่งด้านกระดูกและข้อ มีภารกิจมากเกินกว่านายกีรติคนธรรมดาจะได้มา ทุกอย่างตามมาทั้งหมด ถ้าคนรุ่นต่อๆ ไปทำเพื่อส่วนรวม เขาจะได้สิ่งเหล่านี้มาแน่ๆ แต่คุณหมอเองก็ต้องสร้างให้น้องๆ รุ่นใหม่มีพื้นฐาน ให้เก่งแล้วไม่ใช่เพื่อตนอย่างเดียว ถ้าดูแลคนไข้ปีละพันคน ต้องสร้างคนเก่งและดีอีกสิบคน คูณกันเป็นหมื่นแล้ว หรือถ้าสร้างร้อยคน เป็นแสนแล้ว

บทบาทของเขาถ้าไม่สร้างคน ก็จะเสียดายชีวิตอีกว่า เมื่อมีโอกาสแล้วก็ควรถ่ายทอดให้แพทย์รุ่นต่อๆ ไปสืบทอด ไม่ต้องหลงทางแบบตน ทำให้พวกเขามีทางลัดได้

ทุกวันนี้เขายืนหลังห้อง ได้เห็นลูกศิษย์ไปเสนอผลงาน มันมีความสุขยิ่งกว่าไปพูดเองเสียอีก สมัยก่อนเขาต้องไปพูดเอง ต้องไปนำเสนอเอง เดี๋ยวนี้แค่เป็นเบื้องหลัง มันเป็นความสุข ความสุขที่แท้จริงคือได้เห็นคนที่รักมีความสุข

คุณหมอออร์โธปิดิกส์ขอฝาก
เขาทิ้งท้ายว่า สุขภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อใช้งานร่างกาย ต้องดูแลเขาด้วย การป้องกันหรือหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยสำคัญที่สุด เพื่อทำให้เราได้ทำหน้าที่ งานที่รัก ก็จะเกิดความสุขแก่ตนได้ ทั้งนี้ คุณหมอได้ฝากประชาสัมพันธ์ ในวาระที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ปีนี้เป็นปีดี มีอายุครบ 48 ปี เป็นภาควิชากระดูกและข้อแรกของประเทศไทย

จึงอยากประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้ามาร่วม ‘งานสัปดาห์ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ศิริราช’ วันที่ 20-24 สิงหาคม 2555 ซึ่งในงานมีการเสวนาความรู้ทางโรคผู้ป่วยกระดูกและข้อ ได้พบดาราคนดังมากมาย มีนิทรรศการที่เป็นประโยชน์ ซึ่งงานนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 22 กรกฎาคม 2555
ขอบคุณบล็อก ASCanNotDo