คนวัยทำงานอาจจะยังไม่คุ้นกับ อาการมีหินปูนเกาะกระดูกเท่าไหร่นัก เพราะส่วนใหญ่อาการนี้มักเกิดกับผู้สูงอายุ แต่หากคุณเป็นคนห่างเหินการออกกำลังกาย วันๆ เอาแต่นั่งนอนเฉย คุณอาจเป็นคนหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดหินปูนเกาะกระดูกได้
หินปูนเกาะกระดูกเกิดได้เมื่อร่างกายของเราเสื่อมสภาพ หรือเกิดความเสียหาย เช่น แตก หัก ซึ่งร่ายกายจะดึงแคลเซียมไปซ่อมแซมกระดูกส่วนที่เสื่อม จนอาจพอกพูนผิดธรรมชาติ ทำให้กระดูกบริเวณนั้นเสียรูปทรง ทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า Bony Spur หรือ Osteophyte แปลว่า “กระดูกงอก” ซึ่งเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่กะโหลกศีรษะ กระดูกแขน ขา และข้อต่อต่างๆ เป็นต้น
อาการกระดูกงอกจะอันตรายก็ต่อเมื่อ หินปูนที่เกาะนั้นไปเบียดบังเนื้อเยื่อหรือทับเส้นประสาทที่สำคัญ ทำให้คนที่เป็นมีอาการเจ็บปวด ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ลำบาก และหากปล่อยไว้นานอาการเจ็บปวดนั้นจะเรื้อรังและรักษาไม่หาย
เมื่อพบว่ามีอาการปวดกระดูกส่วนใดก็ตามให้สังเกตการงอก ปูด โปนของกระดูกส่วนนั้นๆ ร่วมด้วย และหากสงสัยควรรีบปรึกษาแพทย์ ซึ่งวิธีรักษาหินปูนเกาะกระดูก ทำได้ 3 วิธี คือ 1.ผ่าตัด 2.ให้ยาต้านการอักเสบ และ 3.กายภาพบำบัด โดยจะรักษาตามอาการ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษา
อย่างไรก็ตาม วิธีลดความเสี่ยงของอาการหินปูนเกาะกระดูก คือ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง และออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเก็บสะสมมวลกระดูกเอาไว้ป้องกันกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร
ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต