ไลฟ์สไตล์คนเมืองยุคปัจจุบันคือ ความสะดวกสบาย เคลื่อนไหวน้อย และติดเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้คือสาเหตุของภาวะหัวไหล่ติดที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว
ภาวะหัวไหล่ติด คือภาวะที่เราไม่สามารถยกแขนขึ้นได้ทุกมุมองศาปกติ เช่น ยกมือชิดหู เอื้อมหยิบของสูง ๆ เป็นต้น โดยเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อหุ้มข้อไหล่ ทำให้ปวดบริเวณหัวไหล่เป็นเวลานาน เมื่ออาการปวดทุเลาลง แขนข้างที่ปวดจะไม่สามารถยกแขนได้เหมือนเดิม
หากเคลื่อนไหวข้อไหล่จะปวดมากขึ้น จนผู้ป่วยไม่อยากจะขยับข้อไหล่ เมื่อข้อไหล่ไม่มีการเคลื่อนไหวในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็จะเกิดเยื่อพังผืดและหินปูนแทรกในข้อและเนื้อเยื่อรอบหัวไหล่ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณไหล่อ่อนแรงและลีบลง
วิภาพร สายศรี แพทย์อายุรเวทจากศูนย์รักษาไมเกรนและโรคปวดกล้ามเนื้อ ดอกเตอร์แคร์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะไหล่ติดได้อย่างชัดเจน แต่ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการหัวไหล่ติดมักจะมาจาก 3 ปัจจัยคือ อุบัติเหตุ, การไม่ได้ใช้หัวไหล่นานๆ และอายุที่มากขึ้น
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะหัวไหล่ติด แพทย์อายุรเวทชี้คือ กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่พบเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานที่พบว่ามีโอกาสเกิดภาวะไหล่ติดสูงกว่าคนปกติ 2-4 เท่า
ที่สำคัญ วิถีชีวิตปัจจุบันก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดหัวไหล่ติด ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกสบาย ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ไอทีต่างๆ ที่ไม่ต้องยืดแขนหรือเอื้อมมือหยิบของไกลๆ
“ภาวะไหล่ติดอาจใช้เวลาสะสมอาการนานถึง 2-3 ปีแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะปวดประมาณ 1-4 สัปดาห์ ที่จะปวดข้อไหล่โดยเฉพาะเวลากลางคืน, ระยะข้อไหล่ติด ประมาณ 16 เดือน อาการเจ็บลดลง แต่หัวไหล่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติและปวดแบบเฉียบพลัน และระยะฟื้นตัวประมาณ 1-2 ปี อาการเจ็บลดลงเรื่อยๆ แขนข้างที่เจ็บเคลื่อนไหวได้มากขึ้นอย่างช้าๆ ” วิภาพรกล่าว
ปัจจุบัน วิธีการรักษาภาวะไหล่ติดที่นิยมใช้กันอยู่ 4 วิธี ได้แก่ กายภาพบำบัด นักกายภาพจะพยายามยืดไหล่และหมุนขยับส่วนที่ติดซึ่งกระบวนการบำบัดจะเจ็บมาก 90%ของผู้ป่วยจะเลิกรักษาเพราะทนเจ็บระหว่างบำบัดไม่ได้, การบริหารบริเวณหัวไหล่ เช่น ท่าไต่กำแพง มักไม่ค่อยได้ผลเพราะเมื่อทำถึงตำแหน่งที่หัวไหล่ติด จะเจ็บมาก, การฉีดยาสเตียรอยด์ที่ข้อไหล่และการรับประทานยาเป็นการบรรเทาปวด และการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งมีค่ารักษาค่อนข้างสูง
ในส่วนของศูนย์รักษาไมเกรนและโรคปวดกล้ามเนื้อ ดอกเตอร์แคร์ วิภาพรชี้ว่า ใช้การรักษาด้วยเทคนิคการรักษาภาวะไหล่ติดที่เรียกว่า SAM ซึ่งประกอบด้วยการรักษา 3 ขั้นตอนหลัก คือ Stretching ซึ่งเป็นการยืดกล้ามเนื้อเพื่อเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของข้อต่อหัวไหล่
ต่อด้วย Acupressure หรือกดจุด Trigger Point เพื่อสลายพังผืด ยืดหยุ่นเส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการรักษาในขั้นตอนที่ 3 คือ Manipulation การปรับองศาข้อไหล่ ที่แพทย์อายุรเวทจะเริ่มการปรับองศาการยกหัวไหล่ทั้งแนวระนาบและแนวดิ่ง เพื่อทำให้การทำงานของหัวไหล่เป็นไปตามปกติ
“การรักษาภาวะหัวไหล่ติดสามารถทำให้หายขาดได้ แต่มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นใหม่ในข้างที่ไม่เคยเป็น ดังนั้น จึงควรดูแลตนเอง บริหารกล้ามเนื้อและข้อต่อหัวไหล่ด้วยการยืดเหยียด เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว ไล่หินปูนที่อาจมาเกาะข้อต่อหัวไหล่ เพราะหากมีอาการช่วงแรกและพยายามเคลื่อนไหวบ่อยครั้ง ผสมการประคบอุ่น ภาวะไหล่ติดก็จะหายไปเอง” แพทย์อายุรเวทจากดอกเตอร์แคร์ย้ำ
ที่มา bangkokbiznews