หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินชื่อ “น้ำมันตับปลา”
แล้วทราบหรือไม่ว่า การรับประทาน “น้ำมันตับปลา” ให้ประโยชน์อย่างไรต่อร่างกาย
“น้ำมันตับปลา” คือน้ำมันที่สกัดมาจากตับปลา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาทะเล อันได้แก่ “ปลาค็อด” จึงมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “cod liver oil”
ตับปลาเป็นแหล่งสะสมของวิตามิน เอ และวิตามิน ดี ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ดังนั้น น้ำมันตับปลาจึงมีปริมาณวิตามิน เอ และวิตามินดี สูง
แต่ทั้งนี้ ก็มีคำถามที่พบบ่อยก็คือ แล้วน้ำมันตับปลาต่างจากน้ำมันปลาทะเลอย่างไร
น้ำมันตับปลาเป็นน้ำมันที่สกัดจากตับปลา โดยตับเป็นแหล่งสะสมของวิตามิน เอ และวิตามิน ดี ส่วน “น้ำมันปลาทะเล” หรือบางคนเรียกสั้น ๆ ว่า “น้ำมันปลา” หรือ “fish oil” นั้น สกัดมาจากปลาทะเล (ซึ่งได้จากส่วนหนัง เนื้อ หัว และหางปลาทะเล) ปลาที่ใช้สกัดมักเป็นปลาทะเลน้ำลึก
น้ำมันปลาทะเลมีกรดไขมันหลายชนิด แต่กรดไขมันที่มีมากในน้ำมันปลาทะเลคือ กรดไขมันโดโคซาเฮกซาอีโนอิก (Docosahexaenoic acid หรือที่เรารู้จักกันว่า..DHA..นั่นเอง) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวสายยาว (polyunsaturated fatty acids) ในกลุ่มโอเมก้า 3
คุณประโยชน์ของ “น้ำมันตับปลา” ต่อสุขภาพของคนเรานั้น ต้องบอกว่า น้ำมันตับปลามีปริมาณวิตามิน เอ และวิตามิน ดี สูง ซึ่งวิตามิน เอ มีบทบาทสำคัญในการสร้างเยื่อบุผิวปกติและกระดูก รวมถึงการสร้างภูมิต้านทาน บทบาทที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของวิตามิน เอ คือ การช่วยให้มองเห็นในที่มืดหรือที่มีแสงสลัว
ในภาวะที่ขาดวิตามิน เอ ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงทางผิวหนังและเยื่อบุตา โดยอาการจะเริ่มต้นที่ตา ได้แก่ อาการตาบอดกลางคืน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาในเวลาที่เหมาะสม ผู้ป่วยอาจตาบอดได้
ส่วนวิตามิน ดี นั้นมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหารผ่านเยื่อบุลำไส้เข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ วิตามิน ดี ยังมีบทบาทสำคัญที่อวัยวะอื่น ๆ ด้วย เช่น ไต โดยเพิ่มการดูดซึมกลับของแคลเซียมและฟอสฟอรัส เป็นต้น วิตามิน ดี จึงมีความสำคัญต่อการสร้างกระดูกให้เป็นไปอย่างปกติ
ในเด็กที่ขาดวิตามิน ดี จะเกิดภาวะกระดูกอ่อน ซึ่งในเด็กเรียกว่า โรคกระดูกอ่อน และในผู้ใหญ่เรียกว่าภาวะออสธีโอมาลาเซีย (osteomalacia)
สรุปแล้วน้ำมันตับปลามีประโยชน์ต่อสุขภาพในแง่ที่ให้วิตามิน เอ และวิตามิน ดี
อย่างไรก็ตาม ร่างกายจะได้รับวิตามิน เอ จากอาหารประเภทเนื้อสัตว์และผักต่าง ๆ เช่น ผักบุ้ง ตำลึง รวมทั้งแครอท ส่วนวิตามิน ดี นั้นก็มีมากในตับและไข่แดง เช่นเดียวกัน
โดยทั่วไปแล้ว ร่างกายสามารถสร้างวิตามิน ดี ได้ที่ผิวหนัง โดยผิวหนังที่ได้รับแสงแดด จะสร้างวิตามิน ดี ซึ่งจะถูกเปลี่ยนที่ไตและตับให้เป็นรูปแบบที่ทำงานได้
นอกจากนี้ วิตามิน เอ และวิตามิน ดี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน การได้รับวิตามิน 2 ชนิดนี้มากเกินไป จะทำให้มีการสะสมและเพิ่มระดับวิตามินในเลือด จนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากระดับวิตามินที่สูงมากได้ จึงควรระมัดระวัง
ส่วนคำถามที่ว่า การบริโภคน้ำมันตับปลา ส่งผลให้คอเลสเตอรอลสูงจริงหรือไม่นั้น
คำตอบคือ ตับเป็นแหล่งที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง ดังนั้น การบริโภคน้ำมันตับปลาในปริมาณมาก ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้ ส่วนดีเอชเอก็มีบทบาทเกี่ยวกับการพัฒนาระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองเห็นในช่วงอายุ 6 เดือนแรก และมีความสำคัญต่อการสร้างสารที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเส้นประสาท ซึ่งมีผลต่อการทำงานหรือการสั่งงานของสมอง
ดีเอชเอนั้นมีมากในน้ำมันปลาทะเล (ซึ่งไม่ใช่น้ำมันตับปลา) ซึ่งทารกที่เกิดครบกำหนด เด็ก และผู้ใหญ่ สามารถสร้างดีเอชเอได้ในร่างกาย โดยสร้างจากกรดแอลฟ่าลิโนเลนิก (alpha-linolenic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็น อย่างไรก็ตามปริมาณที่ร่างกายสร้างได้มีไม่มาก จึงมีการแนะนำให้บริโภคปลาทะเลน้ำลึกเพื่อเพิ่มระดับดีเอชเอในร่างกาย
ในทางการแพทย์ น้ำมันตับปลาสามารถรักษาโรคหรือทำให้อาการของโรคทุเลาลงได้หรือไม่
คำตอบคือ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะขาดวิตามิน เอ ร่วมกับภาวะขาดวิตามิน ดี อาจจะมีการแนะนำให้บริโภคน้ำมันตับปลา โดยแพทย์ต้องพิจารณาปริมาณวิตามิน เอ และวิตามิน ดี ที่ผู้ป่วยจะได้รับจากน้ำมันตับปลา และจากอาหารอื่นที่ให้วิตามิน เอ และวิตามิน ดี รวมไปถึงความร่วมมือของผู้ป่วยเองในการบริโภคน้ำมันตับปลาด้วย
คำแนะนำในการบริโภคน้ำมันตับปลา ตามที่ทราบแล้วว่า น้ำมันตับปลามีปริมาณวิตามิน เอ และวิตามิน ดี สูง วิตามินทั้งสองตัวนี้เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน จึงมีโอกาสที่จะถูกสะสมจนถึงระดับที่เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะเมื่อบริโภคพร้อมกับยาอื่นที่มีวิตามิน เอ และหรือวิตามิน ดี ร่วมอยู่ด้วย ดังนั้น การบริโภคน้ำมันตับปลาในรูปยาหรือวิตามินเสริม จึงควรทำด้วยความระมัดระวัง ต้องพิจารณาทั้งปริมาณและระยะเวลาที่บริโภค อีกอย่างน้ำมันตับปลาไม่เหมือนน้ำมันปลาทะเล สารอาหารที่ได้รับก็มีความแตกต่างกัน.
รศ.ดร.พญ.นลินี จงวิริยะพันธุ์
สาขาวิชาโภชนวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา: เดลินิวส์ 29 มีนาคม 2557