นอนผิดท่าอาจทำให้เกิดโรคได้

151878

ถึงแม้การนอนจะมีความสำคัญมาก แต่การนอนในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี นอนในสถานการณ์ที่ไม่ควรนอน หรือ ท่านอน ที่ไม่เหมาะสมกับสุขภาพของบุคคลผู้นั้น อาจทำให้เป็นโรคหรือผู้ที่เป็นโรคอยู่แล้วอาจทำให้สูญเสียชีวิตจากท่านอนที่ผิดได้ 

1. นอนในท่านั่ง 

อุบัติเหตุทางรถยนต์หลาย ๆ รายเกิดจากการที่คนขับหลับใน ในเวลาที่นั่งขับรถอยู่ นอกจากนี้การนั่งหลับในรถเมล์ มักจะทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปทั่วร่างกาย เนื่องจากร่างกายยังอยู่ในสภาพต่อต้านแรงโน้มถ่วงของโลก อาการที่พบบ่อยคือปวดคอ กระดูกคอเคลื่อนเมื่อรถหยุดกะทันหัน ปวดหลัง มือชา ขาชา มือบวม ขาบวม และปวดข้อเข่า ปวดหัว มึนศีรษะ เมารถ และมีบางรายหน้ามืด เป็นลมได้ เพราะนอกจากเลือดจะสูบฉีดขึ้นสมองไม่พอแล้วในบรรดารถปรับอากาศประจำทาง อากาศที่มาจากช่องลมไม่บริสุทธิ์ ถ้าจำเป็นต้องเดินทางไกลควรมีปลอกคอค้ำไว้ หรือเอาผ้าพันคออย่างหนา เช่น ผ้าขนหนูพันรอบคอไว้ ซึ่งนอกจากจะช่วยไม่ให้คอตก และถูกกระชากเวลานอนหลับแล้วยังรักษาความอบอุ่นของร่างกายได้ ควรใส่ถุงน่องรัดขาไว้เพื่อให้เลือดคั่งที่ขาน้อยลง ในกรณีที่ปรับที่นั่งให้เอนลงได้ ควรยกขาขึ้นไม่ให้ห้อยลงตลอดเวลา 

ปัจจุบันเกือบเป็นปกติวิสัยที่คนเรามักเฝ้าดูโทรทัศน์จนหลับไปทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ในท่านั่ง ทำให้เกิดอาการปวดต้นคอ ปวดหลัง และเจ็บก้นกบได้ อีกกรณีที่พบบ่อยคือคนเมาเหล้ามักจะนอนหลับไปขณะนั่งอยู่ และแขนอาจจะห้อยลงจากพนักพิงของเก้าอี้ โดยที่รักแร้วางทับอยู่กับสันของพนักเก้าอี้นั้น พอตื่นนอนพบว่าแขนข้างนั้นชาจนไม่มีความรู้สึก และบางครั้งก็ยกแขนไม่ขึ้นเป็นเวลานานหลายวัน เพราะกดถูกหลอดเลือดและเส้นประสาทใต้รักแร้ ทำให้แขนขางนั้นอ่อนแรงลง และสูญเสียความรู้สึกไป ในรายที่รุนแรงมากอาจเป็นอัมพาตของแขนข้างนั้นไปเลย การนอนหลับในท่านั่ง จึงเป็นท่าที่อันตรายควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง

 2. ท่านอนหงาย 

ปกตินอนหงายเป็นท่านอนที่คนปกตินิยมนอน ข้อดีคือต้นคอจะอยู่ในแนวเดียวกับร่างกายถ้าไม่หนุนหมอน หรือใช้หมอนต่ำ แต่ถ้าใช้หมอนสูง 2-3 ใบ จะทำให้คอก้มมาข้างหน้าทำให้ปวดคอได้ ในท่านอนหงายกะบังลมที่คั่นระหว่างช่องอกและช่องท้องจะทับอยู่บนปอด ทำให้การหายใจค่อนข้างลำบากเมื่อเทียบกับท่านั่ง จึงไม่เหมาะสมกับผู้ที่มีโรคปอด ซึ่งควรหลีกเลี่ยงได้โดยยกส่วนบนของร่างกายให้สูงขึ้นในลักษณะครึ่งนอนครึ่งนั่ง โดยใช้หมอน 2-3 ใบวางรองด้านหลังไว้ หรือยกพื้นเตียงส่วนบนให้สูงขึ้น 

ผู้ที่ความดันสูงอาจหายใจลำบากในท่านอนหงาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหัวใจ การทำงานของหัวใจ จะลำบากในท่านอนหงายราบ เพราะไม่สามารถสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจได้ เกิดภาวะหายใจขัด คนที่เป็นโรคหัวใจมักจะต้องลุกขึ้นนั่งหรือยืน จึงหายใจสะดวกขึ้น สำหรับผู้ที่เกิดอาการปวดหลังอย่างเฉียบพลัน การนอนหงายในท่าราบทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้นได้ ควรให้พาดขาทั้งสองไว้บนเก้าอี้ที่ใช้หน้าโต๊ะเครื่องแป้งหรือวางพาดบนเตียงนอนขณะนอนหงายราบบนพื้นไม้ที่มีเสื่อปู 

3. ท่านอนตะแคงซ้าย 

เป็นท่านอนที่ช่วยลดอาการปวดหลังได้ แต่ควรมีหมอนข้างให้กอดและพาดขาได้ ข้อเสียของการนอนตะแคงซ้าย คือทำให้หัวใจซึ่งอยู่ข้างซ้ายเต้นลำบาก ในรายที่มีโรคปอดข้างขวา ทำให้หายใจไม่สะดวก เนื่องจากปอดข้างซ้ายที่ปกติจะขยายตัวไม่ได้เต็มที่ อาหารในกระเพาะถ้ายังย่อยไม่หมดก่อนเข้านอนจะคั่งอยู่ในกระเพาะทำให้เกิดลมจุกเสียดที่กระดูก ลิ้นปี่ได้ ซึ่งเป็นตำแหน่งของกระเพาะข้างซ้ายที่ติดขัดอาจเจ็บปวดจากการนอนทับเป็นเวลานาน และถ้าหนุนหมอนต่ำเกินไป ในท่านี้จะทำให้ปวดต้นคอได้ เนื่องจากคอตกมาทางซ้าย ซึ่งอาจแก้ไขได้โดยใช้หมอนสี่เหลี่ยมที่มีความสูงเท่าความกว้างของบ่าซ้าย ขาข้างซ้ายอาจรู้สึกชา ถ้าถูกทับเป็นเวลานาน 

4. ท่านอนคว่ำ 

แต่ก่อนเคยเข้าใจว่าทารกควรให้นอนคว่ำรูปหัวจะทุยสวย ไม่แบน แต่ปัจจุบันพบว่าในประเทศยุโรป หรืออินเดีย ทารกมีโอกาสเสียชีวิต เนื่องจากหายใจไม่ออกจากการที่จมูกหรือปากถูกทับไว้ โดยเฉพาะถ้านอนคว่ำและดูดนมอยู่บนอกมารดา หรือพื้นเตียงอ่อนนิ่มเกินไป นอกจากนั้นยังพบว่าน้ำนมอาจขย้อนออกมาในท่านี้ 

เนื่องจากนอนทับถูกกระเพาะอาหาร และถูกดูดเข้าไปในปอดได้ สำหรับผู้ใหญ่ การนอนคว่ำทำให้หายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะในสตรีที่มีเต้านมใหญ่ สำหรับผู้ชายการนอนคว่ำทำให้อวัยวะเพศถูกทับอยู่ตลอดเวลา อาจกระตุ้นให้เกิดอาการฝันเปียก หรือเกิดอาการชาของอวัยวะเพศ การนอนคว่ำยังทำให้ต้นคอ เกิดอาการปวดได้ เนื่องจากต้องเงยมาข้างหลัง หรือบิดหมุนไปข้างซ้าย หรือข้างขวานานเกินไป ถ้าจำเป็นต้องนอนคว่ำ ควรหาหมอนรองใต้ท้องหรือใต้ทรวงอก โดยเฉพาะถ้าต้องการอ่านหนังสือในท่านอนคว่ำเพื่อไม่ให้เมื่อยคอ 

5. นอนดิ้น 

ที่จริงไม่ใช่ท่านอนใดท่านอนหนึ่ง คือ นอนหงาย นอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวา นอนคว่ำ สลับกันไปเช่นอย่างเด็ก ๆ ที่ชอบนอนกลิ้งตัว แต่หัวเตียงไปจนถึงปลายเตียง จนอาจตกเตียงไปเลย แต่ท่านอนดิ้นน่าจะเป็นท่านอนที่ดีสำหรับผู้ใหญ่ เนื่องจากปรับท่านอนไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลา ของการนอนหลับ เมื่ออายุสูงขึ้นการนอนดิ้นมักจะน้อยลง นอนหลับในท่าไหนมักจะตื่นขึ้นมาจากท่านั้นจึงทำให้เกิดอาการชาของแขนขาได้ หรือหายใจไม่สะดวก

 การนอนเปลี่ยนท่าบ่อย ๆ จึงเป็นวิธีนอนหลับที่ดี โดยทั่วไปคนเราจะนอนหลับคืนละประมาณ 3-4 รอบ ๆ ละ 2 ชั่วโมง คือนอนหลับไม่ฝันและฝันสลับกันไป ขณะที่เราฝันกล้ามเนื้อจะอ่อนปวกเปียก ทำให้หายใจลำบาก หรือเกิดภาวะผีอำ คือวางแขนกดทับอยู่บนทรวงอกจนหายใจขัด แต่ไม่สามารถยกแขนออก ดังนั้นถ้าทุกครั้งที่เรารู้สึกตัว เมื่อผ่านภาวะฝันไปแล้วในแต่ละรอบ เราควรจะเปลี่ยนท่านอนจากท่าเดิมเป็นอีกท่าหนึ่งที่สบายขึ้น ไม่ควรปล่อยให้แขนขาชาเนื่องจากถูกทับจนขาดเลือด หรือไม่ได้ขยับตลอดคืน 

ท่านอน ตะแคงขวา เป็นท่าที่ดีที่สุด ถ้าเทียบกับการนอนหลับในท่าอื่น ๆ เพราะหัวใจเต้นสะดวกและอาหารจากกระเพาะ ถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ทำให้ไม่คั่งค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานเกินไป และเป็นท่านอนที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ แต่ข้อเสียคือ อาจทำให้เจ็บ ปวดหัวไหล่ขวา ปวดคอถ้าใช้หมอนต่ำเกินไป หายใจไม่สะดวก ถ้าปอดข้างซ้ายมีปัญหา และขาข้างขวาถูกทับจนชาได้ 

การนอนหลับเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ดังนั้นจึงควรปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่นเดียวกับการปฏิบัติตนในเวลาตื่นนอน 

 

ที่มา..หมอชาวบ้าน