โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด
( โรคหลังอักเสบแองคัยโรสซิ่ง , ANKYROSING SPONDILITIS )
ดัดแปลงจากเอกสารของ สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดคืออะไร ?
โรค ข้อสันหลังอักเสบติดยึดเป็นกลุ่มโรคข้ออักเสบที่มีการอักเสบของกระดูก สันหลังร่วมกับมีการอักเสบของข้ออื่น ๆ ของร่างกาย เมื่อเป็นไปนาน ๆ จะมีกระดูกงอกออกมาเชื่อมกระดูกสันหลัง ข้อสะโพกให้ติดกัน เกิดความพิการตามมา
2. สาเหตุของโรคนี้คืออะไร?
สาเหตุของโรคนี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
3. ผู้ใดบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคนี้?
โรคนี้พบได้ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่
พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 10-20 เท่า โดยเฉพาะช่วงอายุ 20-30 ปี
4. อาการและอาการแสดงของโรคนี้มีอะไรบ้าง?
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังเรื้อรัง ติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน
มีอาการมากในตอนเช้า และ อาการจะดีขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือได้ออกกำลังกาย
เมื่อกระดูกสันหลังอักเสบนาน ๆ จะมีหินปูนมาจับบริเวณกระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกสันหลังเชื่อมติดกัน หลังจะแข็ง ก้มไม่ได้
ใน บางรายอาจมีการเชื่อมกันของกระดูกซี่โครง ทำให้หายใจลำบาก อาจมีการอักเสบของข้ออื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก หรือ มีการอักเสบของเส้นเอ็น เช่น เส้นเอ็นร้อยหวาย เส้นเอ็นฝ่าเท้า
บางรายเมื่อเป็นนาน ๆ อาจมีอาการนอกระบบข้อ เช่น ปอดอักเสบ หรือหัวใจอักเสบได้
5. แพทย์จะให้การวินิจฉัยโรคนี้อย่างไร?
แพทย์จะอาศัยการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย
การถ่ายภาพรังสีมีประโยชน์ในการช่วยการวินิจฉัย โดยจะพบการอักเสบและเชื่อมติดกันของข้อ โดยเฉพาะกระดูกกระเบนเหน็บ และ กระดูกสันหลัง
6. การรักษา
1. การรักษาทางยา
โดย ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการปวด ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวดีขึ้นและสามารถทำกายบริหารได้
ปัจจุบันได้มียาในกลุ่มใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคสงบได้ แต่มีราคาค่อนข้างแพง ผลข้างเคียงมาก ต้องรับประทานติดต่อเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่ได้รักษาโรคให้หายขาด
2. การบริหารร่างกาย
มี ความสำคัญมาก นอกจากจะทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ดีแล้ว ยังช่วยป้องกันข้อติดอีกด้วย ขณะบริหารอาจปวดมากขึ้น แต่ต้องพยายามอดทนบริหารต่อไป ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ให้ข้อได้เคลื่อนไหว
3. ปฏิบัติตัวให้ถูกสุขลักษณะ
โดยต้องพยายามให้หลังตรงอยู่เสมอ เช่น ควรนั่งพิงพนักหลังตรง ยืนเดินให้หลังตรง
ควรนอนหงายบนพื้นแข็ง ไม่ควรนอนตะแคง และ ไม่ควรหนุนหมอนสูงเพราะทำให้คอก้มมากเกินไป
4. การผ่าตัด
เช่น ผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียม ข้อเข่าเทียม ผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อแก้ไขอาการหลังโก่ง
7. การดำเนินโรค
โรค นี้จะมีการดำเนินโรคอยู่นานประมาณ 10 ปี ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังเรื้อรัง เมื่อเป็นไปนาน ๆ จนกระดูกเชื่อมติดกัน อาการปวดจะลดลง แต่จะเกิดความพิการตามมา โดยเฉพาะอาการคอแหงนไม่ได้ หลังโก่ง สะโพกงอ
ซึ่งถ้าเกิดข้อติดผิด รูปขึ้นแล้วการรักษามักจะได้ผลไม่ค่อยดีนัก ดังนั้นถ้าสามารถรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรก ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถรักษาให้โรคหายขาดได้ แต่ก็จะช่วยบรรเทาอาการและลดความพิการที่อาจเกิดตามมาในภายหลัง
[ ข้อความจากคุณ http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807;date=24-06-2008;group=5;gblog=24]