อย.จำกัดปริมาณขายทรามาดอล ห้ามขายเด็ก และต้องรายงานอย่างละเอียด กันปัญหาเอาไปใช้เป็นยาเสพติด
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อแก้ปัญหาการใช้ยาทรามาดอลผิดวัตถุประสงค์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน สมาคมร้านขายยา ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย และผู้รับอนุญาต ผลิต นำเข้า เพื่อกำหนดมาตรการแนวทางในการปฏิบัติสำหรับผู้รับอนุญาต และเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ในการควบคุมยาที่มีความเสี่ยงสูง ว่า จากการทบทวนปริมาณการใช้ยาดังกล่าวพบว่ามีปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้น จากปี 2553 มีการผลิตและนำเข้าอยู่ที่ 207 ล้านเม็ด เป็นปี 2554 มีปริมาณการผลิตและนำเข้า 231 ล้านเม็ด ซึ่งยาดังกล่าวถือเป็นยาจำเป็นที่ต้องใช้ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการปวดจากโรค ที่ไม่สามารถใช้ยาแก้ปวดตามปกติได้ การจำกัดการใช้ยาถือเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ในขั้นต้นที่ประชุมได้ข้อสรุป ว่า จะมีมาตรการควบคุมโดย จำกัดปริมาณการจำหน่าย จากผู้ผลิตไปยังร้านขายยาไม่เกิน 1,000 เม็ดต่อแห่งต่อเดือน และจำกัดการขายจากร้านขายยาไม่ควรจ่ายยาเกินครั้งละ 20 เม็ด และห้ามจำหน่ายยาทรามาดอลให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี หรือผู้ที่ไม่มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการนำยาดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นไป
นอกจากการจำกัดปริมาณการซื้อขาย อย.ได้ กำหนดให้ผู้ที่มีการจำหน่ายยาทรามาดอล ต้องรายงานปริมาณการขายทุก 4 เดือนผ่านระบบออนไลน์ จากเดิมที่จะมีการรายงานทุก 1 ปี ในกลุ่มยาอันตราย เพื่อให้ทราบว่ามีการใช้ในสถานที่ใดบ้าง และมีปริมาณการนำเข้าสอดคล้องกับการขายหรือไม่ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการรั่วไหลของยาดังกล่าว และจะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำหรับเภสัชกรที่ได้จำหน่ายยาให้กับเด็ก ใน จ.สมุทรปราการ นั้น ขณะนี้ได้ตรวจสอบและจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการยาพิจารณาเพื่อถอดถอนใบอนุญาต เปิดร้านต่อไปหากพบว่ากระทำผิดจริง ส่วนเภสัชกร จะส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมดำเนินการถอดถอนใบอนุญาตต่อไป อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสูง ได้แก่ ทำให้มีอารมณ์แปรปรวน, มึนงง, เคลิ้ม, เฉื่อยชา ที่สำคัญหากได้รับยาเกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะอื่นๆ ตามมา เช่น รูม่านตาหด, ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานล้มเหลว, ชัก, ระบบการหายใจทำงานช้าลง
ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า สภาเภสัชกรรม ได้กำชับเภสัชกรมาให้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน โดยการจ่ายยาต้องกระทำตามความจำเป็น และจ่ายยาตามความจำเป็นและข้อบ่งชี้ อีกทั้งต้องให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งติดตามความปลอดภัยในการใช้ยา หากมีปัญหาก็ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย สำหรับกรณีการจำหน่ายยาดังกล่าว จะมีการนำเรื่องมาพิจารณาเพื่อดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาในกลุ่มยาอันตรายที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนและเสี่ยงนำไปใช้ ผิดวัตถุประสงค์ ทางสภาเภสัชกรรม ได้ตติดตามอย่างต่อเนื่องและเพิกถอนใบอนุญาตเภสัชกรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงด้วย
ที่มาของข่าว เว็บผู้จัดการออนไลน์