ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง Ankylosing Spondylitis

ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง Ankylosing Spondylitis

bonespine1

ลักษณะทั่วไป
 โรคนี้มีภาวะการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังแบบเรื้อรัง และค่อย ๆ รุนแรงขึ้น
 จนมีการเชื่อมต่อกันของข้อต่อกระดูก พบได้ประปราย จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 
 (ผู้ป่วยชายต่อผู้ป่วยหญิงเท่ากับ 7 : 1 ) และมักพบในคน หนุ่มสาว

  สาเหตุ
 ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาของระบบภูมิต้านทานของร่างกาย 
 ต่อเนื้อเยื่อบริเวณข้อต่อกระดูกต่าง ๆ (ออโตอิมมูน) และสันนิษฐานว่า อาจเกี่ยวข้องกับ
 กรรมพันธุ์

อาการ
 ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดข้อโดยเฉพาะปวดหลังหรือบั้นเอว เมื่ออายุประมาณ 20 ปี 
 (ระหว่าง 10 – 30  ปี) เริ่มปวดเมื่อมีอายุมากกว่า 30 ปี พบได้น้อย บริเวณที่ปวด เรียงลำดับตามที่พบมาก ได้แก่ บั้นเอว  แก้มก้น 
 ทรวงอก หัวเข่า ส้นเท้า หัวไหล่ และข้อมือ ในระยะแรกมักมีอาการปวดเป็นครั้งคราว และดีขึ้น จากการกินยาแก้ปวด ที่เด่นชัด 
 คือ จะปวดหลังมาก เวลานอนโดยเฉพาะในช่วงเช้า บางครั้งจะปวดมาก จนต้องตื่นนอน อาจมีอาการหลังแข็ง และดีขึ้นหลังจาก
 ได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือออกกำลังกาย บางคนอาจรู้สึกปวดเมื่อยง่ายหลังทำงาน หรือเล่นกีฬาบางรายอาจมีอาการปวดร้าวลงขา  
 แบบรากประสาทถูกกด 
 ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด  ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไปพบแพทย์หลังมีอาการ 6 เดือนถึง 3 ปี 
 อาการจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นในระยะ 10 – 20 ปี แล้วอาจทุเลา หรือหายไปได้เอง หรืออาจปวดเฉพาะที่บั้นเอว หรือข้อสะโพก 
 แต่บางคนอาการอักเสบ อาจลุกลาม ไปตามข้ออื่นๆ หรืออวัยวะอื่น ๆ เช่น ม่านตา (iris), หัวใจ, ทางเดินอาหาร,ปอด เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ
 ในระยะแรกเริ่ม อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน เมื่อเป็นมากขึ้น จะพบอาการกดหรือคลำถูกเจ็บตรง
 ข้อที่ปวด หรือใช้กำปั้นทุบเบา ๆ ตรงกลางหลังจะเจ็บมากขึ้นอาจตรวจพบว่า ผู้ป่วยก้มงอบั้นเอวลง
 ด้านหน้าได้น้อยกว่าปกติ เรียกว่า "การทดสอบแบบโชเบอร์ (Schober test)" การวัดรอบ
 ทรวงอกดูการขยายตัว เมื่อหายใจเข้าเต็มที่ จะพบว่าขยายขึ้นได้น้อยกว่าคนปกติ (ขยายได้ต่ำกว่า 5
 ซม. ในชายหนุ่ม) ในรายที่มีอาการรุนแรง และละเลยการรักษาที่ถูกต้องเป็นแรมปี จะมีลักษณะเฉพาะ 
 คือ หลังแข็งทั้ง ท่อนและโก่ง (kyphosis) ตาไม่สามารถมองตรงไปข้างหน้า บางรายสะโพกแข็ง
 แบบอยู่ในท่านั่ง ทำให้ยืนและเดินไม่ได้ บางรายอาจมี ม่านตาอักเสบ  คือ มีอาการปวดตา ตาแดงร่วม
 ด้วย เรียกว่า "กลุ่มอาการไรเตอร์" (Reiter’s syndrome) หรืออาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 
 ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว (Aortic insufficiency) ซึ่งใช้เครื่องฟังตรวจหัวใจได้ยินเสียงฟู่

  อาการแทรกซ้อน
 ข้อต่อสันหลัง เชื่อมติดกันจนมีความพิการ คือ หลังโก่ง ข้อตะโพกติดแข็ง จนยืน และเดินไม่ได้  ข้อต่อ
 กระดูกซี่โครงติดแข็ง ทำให้สมรรถภาพปอดลดลง อาจเกิดการติดเชื้อในปอด ปอดอักเสบได้ข้อขากรรไกร
 แข็ง ทำให้กลืนลำบาก ประสาทสันหลังส่วนล่างผิดปกติ เกิดอาการปวดขา ขาอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะ
 อุจจาระไม่ได้

  การรักษา
 หากสงสัย ควรส่งต่อเพื่อการตรวจยืนยันด้วยการตรวจเลือด ซึ่งจะพบค่าอีเอสอาร์ (ESR) และ
 C – reactive protein สูงกว่าปกติ การตรวจเอกซเรย์ จะพบความผิดปกติของข้อต่อสันหลัง และ
 ข้อต่อสะโพก (sacroiliac joint) ในระยะที่โรคเป็นมากแล้ว การรักษา ยังไม่มีการรักษาจำเพาะ
  เพียงแต่ให้การบรรเทาอาการปวด อักเสบ และป้องกันความพิการ โดย
 1. ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์   ตัวที่ใช้ได้ผลดี ได้แก่ อินโดเมทาซิน   ซึ่งควรปรับให้เข้ากับ
     ความรุนแรง และระยะของโรคในผู้ป่วยแต่ละคน บางคนหลังให้ยาแล้วทุเลา อาจหยุดยาได้เลย 
     บางคนอาจต้องการเพียง วันละ 1 แคปซูล (25 มก.) ในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องใช้ถึง 
     150 – 200 มก.ต่อวัน
 2. กายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยคงรูปทรงในท่าตรงให้สามารถยืนและนั่งตรงได้ และรักษามุมการ
     เคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง สะโพก คอ และทรวงอกไว้
 3. การผ่าตัดสำหรับระยะท้ายของโรคที่มีการติดแข็งของข้อ เช่น การเปลี่ยนข้อสะโพก การดัดกระดูก
     เอวที่โก่งโค้งให้ตรง เป็นต้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถช่วยตัวเองได้ ยกเว้นผู้ที่ละเลยการรักษา อาจ
    พบมีความพิการได้ประมาณ10% หากข้อสันหลังและข้อสะโพก ยังมีความยืดหยุ่นหลังมีอาการเกิน
    10 ปี ก็มักจะปลอดจากความเสี่ยงที่ข้อจะติดแข็ง 

เครดิต http://www.thailabonline.com/section21.htm